ที่นอนบางกอกน้อย
หากเวลาที่ผ่านมายังตริงไว้ด้วยภาพอดีตเมื่อราวร้อยปีก่อน สภาพในวันนี้ของคลองบางกอกน้อยย่านฝั่งธนบุรี ก็จะต้องมีแพผูกเรียงตามแนวคลองให้เห็นอย่างหนาแน่น เจ้าของแพเหล่านั้นส่วนใหญ่เป็นชาวไทยมุสลิมที่เดินทางจากอยุธยามาปักหลักที่นี่ เพราะความพรั่งพร้อมสมบูรร์จึงทำให้ทำมาหากินได้คล่อง สะดวกขึ้น อาชีพหลักที่พวกเขาประกอบกันในตอนนั้น นอกจากค้าขายของสวนแล้ว ก็ยังผลิตสินค้าอื่น ๆ ขายอีกหลายอย่าง แต่ที่ขึ้นชื่อหาใครเทียบได้ยาก ก็คือ งานตัดเย็บฟูกหรือที่นอนยัดนุ่นที่ใช้ฝีมืออันละเอียดอ่อนและมีเอกลักษณ์เฉพาะที่ไม่เหมือนที่ไหน สำคัญไปกว่านั้น ลำคลองสายนี้เป็นต้นตำรับที่แท้จริงของงานตัดเย็บที่นอนยัดนุ่น ซึ่งว่ากันว่าเริ่มต้นก่อนที่นอนโพธารามและราชบุรีมายาวนานนัก
น่าเสียดายที่งานตัดเย็บที่นอนของชาวคลองบางกอกน้อย ที่สุดแล้วก็ไม่แตกต่างไปจากงานฝีมือพื้นบ้านโดยส่วนมากที่ค่อย ๆ ถูกลืมเลือน เนื่องจากหนุ่มสาวรุ่นใหม่ที่ได้รับการศึกษาสูงขึ้นหันไปประกอบอาชีพอื่นที่ก้าวหน้าและสุขสบายกว่า ในขณะเดียวกันวิวัฒนาการของเทคโนโลยีซึ่งทำให้เกิดที่นอนสมัยใหม่ อาทิ ที่นอนฟองน้ำ ที่นอนใยมะพร้าว เป็นต้น ก็เป็นตัวเลือกใหม่ที่ผู้คนกำลังนิยมอย่างแพร่หลาย การว่าจ้างตัดเย็บที่นอนยัดนุ่นก็เลยซบเซาลง และหลงเหลือผู้เชี่ยวชาญในการทำงานเป้นคนเฒ่าคนแก่อยู่เพียงไม่กี่หลังคาเรือน ที่เวลานี้ยังคงรับงานอยู่บ้าง เพราะอย่างน้อยก็เป็นการใช้เวลาว่างในช่วงปลายชีวิตให้เป็นประโยชน์ และเป็นการหารายได้เล็ก ๆ น้อย ๆ แก่ครอบครัวไปในตัว
อย่างไรก็ตาม โดยคุณภาพของที่นอนยัดนุ่นซึ่งเหนือชั้นกว่าที่นอนสมัยใหม่ในบางประการ เช่นว่า ไม่ทำให้ปวดหลัง ใช้งานได้คงทนไปถึงรุ่นลูกรุ่นหลาน ฯลฯ ทำให้ยังสามารถครองใจคนรุ่นเก่า ๆ หลายคน และเมื่อบอกปากต่อปากสืบต่อกันมาก็พอที่จะสร้างความสนใจแก่คนรุ่นหลังบางคนได้พอสมควร ดังนั้นหากมีการรื้อฟื้นส่งเสริมงานอาชีพนี้ขึ้นมาใหม่ในแถบริมคลองภาวะการตลาดดังกล่าวก็ค่อนข้างจะเอื้ออำนวย และหนทางก็ใช่จะมืดมนเสียทีเดียว เพราะยังมีแหล่งที่พอจะเก็บเกี่ยวข้อมูลความรู้ของอาชีพนี้เหลืออยู่บ้าง
คุณลงประสิทธิ์ เกสพานิช ประธานชุมชนสันติชนสงเคราะห์ หมู่บ้านหนึ่งซึ่งตั้งอยู่ริมคลองบางกอกน้อย เป็นคนเก่าแก่และเติบโตมากับสายน้ำนี้ คุณลลุงใช้ชีวิตกว่าครึ่งค่อนอายุในการทำงานตัดเย็บที่นอนยัดนุ่นซึ่งตกทอดมาจากรุ่นพ่อแม่ ยามนี้แม้ร้างรากับกรรไกร ด้าย เข็ม และกองนุ่น เกือบเต็มตัวแล้ว แต่ก็ยังสามารถกะวัดการตัดเย็บหรือลงมือทำได้อย่างคล่องแคล่วเช่นเดิม
"ต้นตระกูลของผมเป็นคนอยุธยาที่รับราชการทหารอยู่กับในหลวงมาตั้งแต่สมัยคุณตาทวด พอท่านเกษียณก็ล่องแพมาอาศัยอยุ่แถบนี้ แล้วประกอบอาชีพค้าขายหลายอย่าง แต่ส่วนใหญ่จะเป็นพวกเครื่องอัฐบริขารหรือเครื่องบวช รวมทั้งตัดเย็บที่นอนขายด้วย ซึ่งเป็นอาชีพของคนเกือบทั้งคลอง ในตอนนั้น ก่อนที่จะขึ้นจากแพมาอยู่บนบกจำได้ว่ามองไปทางไหนก็จะเห็นแต่ชาวบ้านนั่งตัด เย็บ หรือไม่ก็ยัดนุ่นที่นอนกันอย่างเป็นล่ำเป็นสันหมดทุกแพ เพราะที่นี่เป็นแหล่งผลิตที่นอนที่เย็บสวย คุณภาพี ใช้นานทนทาน ชื่อที่นอนดัง ๆ ที่คนรู้จักดี เช่น ที่นอนรุ่งทิพย์ของผม ที่นอน ว.สวัสดี พวกที่นอนที่ว่าเก่าแก่อย่างที่นอนเพชรบุรี ที่อนอนโพธาราม เกิดที่หลังทั้งนั้น" คุณลุงเปิดเผย
นอกจากคุณลงประสิทธิ์และครอบครัวแล้ว คุณป้าสุมาลี อำพันธ์ ก็เป็นอีกคนหนึ่งที่รับจ้างตัดแย็บที่นอนมาจนถึงวันนี้ สมัยก่อนคุณป้าบอกว่า ตัวเองเป็นผู้หญิง เรียนไม่ค่อยสูงนัก พอเรียนจบก็ช่วยทางบ้านหาเงินด้วยการรับจ้างตัดเย็บที่นอน และต่อมาก็เปิดร้านขายที่นอน ชื่อศิริพร คนหัวคลองท้ายคลองรู้จักกันหมด แต่ก็ปิดกิจการไปในที่สุดตามภาวะความนิยม
จากบ้านคุณป้าสุมาลี ยังมีบานอีกหลายหลังริมคลองบางกอกน้อย ที่ยิดอาชีพตัดเย็บที่นอนยัดนุ่นมาจากบรรพบุรุษ แต่เอาเข้าจริง ๆ ก็ถือว่าเหลือน้อยอยู่ เพราะส่วนหนึ่งหนีหายไปเป้นลูกจ้างตัดเย็บอยู่ในร้ายขายที่นอนของพ่อค้าคนจีน ซึ่งเขาจะมุ่งหวังแต่ปริมาณการตัดเย็บที่นอนมากกว่าความพิถีพิถันในการทำงาน ผลงานที่ผลิตออกมาจึงไม่ค่อยแตกต่างจากงานโหลทั่วไป
"ผมคิดว่าการตัดเย็ยที่นอนบางกอกน้อยเป็นงานฝีมืออย่างหนึ่งของคนไทยโบราณที่น่าจะอนุรักษ์เอาไว้ เพราะมันมีเทคนิคพิเศษของการทำงานที่คนสมัยก่อนคิดสร้างไว้อย่างน่ามหัศจรรย์ เช่น การแบ่งที่นอนหนึ่งหลังออกเป็น 3 ตอน การออกแบบให้มีพนัง (ขอบที่นอน) มีลิ้นด้านในสำหรับยึดที่นอนด้านบนกับด้านล่าง หรือการหยิบริม(การสอบขอบที่นอน) ฯลฯ ซึ่งล้วนแต่มีเหตุผลหรือที่มาที่ต้องชมเชยคนคิดเขาจริง ๆ" คุณลุงประสิทธิ์กล่าวไว้ในตอนหนึ่ง
สำหรับการเย็บนั้น คุณลุงประสิทธิ์กล่าวว่า "ปกติผ้าที่มักใช้ตัดเย็บกันจะมีผ้าเชคโกกับผ้าญี่ปุ่น ส่วนใหญ่ไปเลือกซื้อเอาจากตลาดสำเพ็งเหมือนปัจจุบันนี้ ถ้าเป็นผ้าเชคโก หน้าผ้าจะกว้างประมาณ 54 นิ้ว แต่ถ้าเป็นผ้าญี่ปุ่นจะกว้างประมาณ 36 นิ้ว จะว่าไปแล้ว ผ้ายิ่งหน้ากว้าง ก็จะยิ่งตัดเย็บสะดวก แต่ถ้าพูดถึงคุณภาพ ผ้าเชคโกจัดว่าเป็นผ้าที่คุณภาพดี เพราะเนื้อหนา ทอลายในตัว และสีสันก็ไม่ตก เพียงแต่ราคาจะแพงหน่อย ที่นอนที่ดีจะต้องยัดด้วยนุ่นร้อยเปอร์เซ็นต์ หรือนุ่นแท้ไม่มีสิ่งใดเจือปน ซึ่งยากที่คนซื้อจะตรวจสอบได้ หากคนทำแอบยัดนุ่นไม่ดี หรือนุ่นใช้แล้วเข้าไปเพื่อลดต้นทุน ดังนั้นการเลือกสั่งที่นอนยัดนุ่นของผู้ผลิตรายใดก็ตามควรเลือกคนที่ไว้เนื้อเชื่อใจได้"
ตามจรรยาบรรณแล้ว เราคนค้าขาย ซึ่งเคร่งครัดเรื่องศาสนามาก จะไม่โกหาใคร ถ้าบอกว่าเป็นนุ่นแท้ ก็เป็นนุ่นแท้จริง ๆ จะไม่หลอกยัดไส้ด้วยนุ่นเลวหรือนุ่นใช้แล้ว ซึ่งนุ่นดี ๆ ที่ผมใช้เมื่อก่อนนี้จะรับซื้อมาจากจังหวัดสิงห์บุรีหรือไม่ก็ชัยนาท เพราะเป็นแหล่งปลูกนุ่นคุณภาพ แล้วเอามาปั่นเอง ด้วยวิธีกองนุ่นทั้งเปลือกในกรงไม้ที่กรุข้างฝาด้วยตาข่าย แล้วใช้ไม้ฟาดตีกลางแดดจัดเพื่อทำให้นุ่นฟูลอยขึ้น ส่วนเปลือก เมล็ด และ ไส้จะร่วงลงพื้น ไม่ได้เอามาใข้ประโยชน์อะไร เพราะเลือกเอาเฉพาะนุ่นเท่านั้นมายัดใส่ที่นอน ต่อมาภายหลังเมื่อมีการตั้งโรงงานปั่นนุ่นขึ้น ผมก็เลยเลิกปั่นเอง แล้วเลือกซื้อจากโรงงานแทน เพราะสะดวกกว่า แต่ราคาก็แพงกว่าด้วย
จากคำบอกเล่าของคุณลุงประสิทธื์ที่นอนบางกอกน้อยเมื่อเปรียบเทียบกับที่นอนสมัยใหม่แล้ว ก็ต้องยอมรับคุณค่า เพราะสามารถใช้นอนกันไปจนถึงรุ่นลูกรุ่นหลาน ไม่บั่นทอนสุขภาพร่างกาย หากรวมถึงวิธีการตัดเย็บอันเต็มไปด้วยขั้นตอนและรายละเอียดมากมาย ที่นอนบางกอกน้อยก็ควรมีคุณค่าที่ยกให้เป็น "ของดีบางกอกน้อย" ได้อีกอย่างหนึ่ง และเป็นความภาคภูมิใจของคนบางกอกน้อยที่น่าจะได้มีการอนุรักษ์ต่อไป
จากคำบอกเล่าของคุณลุงประสิทธื์ที่นอนบางกอกน้อยเมื่อเปรียบเทียบกับที่นอนสมัยใหม่แล้ว ก็ต้องยอมรับคุณค่า เพราะสามารถใช้นอนกันไปจนถึงรุ่นลูกรุ่นหลาน ไม่บั่นทอนสุขภาพร่างกาย หากรวมถึงวิธีการตัดเย็บอันเต็มไปด้วยขั้นตอนและรายละเอียดมากมาย ที่นอนบางกอกน้อยก็ควรมีคุณค่าที่ยกให้เป็น "ของดีบางกอกน้อย" ได้อีกอย่างหนึ่ง และเป็นความภาคภูมิใจของคนบางกอกน้อยที่น่าจะได้มีการอนุรักษ์ต่อไป
2 ความคิดเห็น:
ผมมีหลักฐานว่าที่นอนโพธาราม เกิดก่อนที่นอนบางกอกน้อย
แล้วแบบที่เด็กน้อยนอนในลายเมาะนุ่นขายแพงไหมน้า
แสดงความคิดเห็น