วันพุธที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2550

โรคภูมแพ้

โรคภูมิแพ้
โดย แพทย์หญิงสุกัลยา รัศมีสุนทรางกูล กุมารแพทย์โรคภูมิแพ้
โรคภูมิแพ้เป็นกลุ่มของโรคที่พบบ่อยในคนไทย และเป็นโรคเรื้อรัง แต่เป็นโรคที่สามารถควบคุมได้ ถ้าผู้ป่วยมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสาเหตุและให้ความร่วมมือในการปฏิบัติตัวและการรักษา จากการสำรวจทั้งของประเทศไทยและประเทศต่างๆ ทั่วโลก พบว่าอุบัติการณ์ของโรคภูมิแพ้เพิ่มสูงขึ้นกว่าในอดีตมาก และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆโรคภูมิแพ้เกิดจากการได้รับสารก่อภูมิแพ้เข้าไปในร่างกาย แล้วกระตุ้นให้ร่างกายเกิดการสร้างภูมิคุ้มกันและปฏิกิริยาตอบสนองต่อสารนั้นมากผิดปกติ ภายหลังเมื่อได้รับสารนั้นเข้าไปอีก ภูมิคุ้มกันดังกล่าวก็จะเข้ามาทำปฏิกิริยา กระตุ้นให้เกิดอาการต่างๆ ของโรคขึ้น ซึ่งจะเกิดอาการเฉพาะในคนที่แพ้เท่านั้น
โรคที่จัดว่าอยู่ในกลุ่มโรคภูมิแพ้ ได้แก่1. โรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ หรือโรคแพ้อากาศ อาการที่พบบ่อย ได้แก่ คันในจมูก จามติดกันหลายๆครั้ง น้ำมูกใสๆไหลมาก คัดแน่นจมูก อาการอื่นๆ เช่น หูอื้อ ปวดมึนศีรษะ น้ำมูกไหลลงคอ เสมหะติดในคอ2. โรคหืด ผู้ป่วยจะมีอาการไอ หอบ แน่นหน้าอก หายใจเสียงวี๊ด อาจเป็นตอนออกกำลังกาย ตอนกลางคืน หรือตอนเป็นหวัดก็ได้3. ผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง เป็นผื่นคัน แห้งแดง และเรื้อรัง พบบ่อยบริเวณหน้า ข้อพับแขนขา4. ลมพิษ ผื่นนูน บวม คันตามผิวหนัง บางรายอาจมีอาการบวมบริเวณหน้า ตาหรือปากด้วย5. ผื่นแพ้ผิวหนังจากการสัมผัส เป็นผื่นคันจากการสัมผัสสารแพ้ต่างๆ เช่น ผงซักฟอก เครื่องสำอาง โลหะ ยาย้อมผม ถุงมือ เป็นต้น6. แพ้อาหาร มีอาการได้หลายระบบ ทั้งระบบผิวหนัง (ผื่น ลมพิษ) ระบบหายใจ (คัดจมูก น้ำมูกไหล หอบ) ระบบทางเดินอาหาร (อาเจียน ปวดท้อง ท้องเสีย) อาหารที่เป็นสาเหตุได้บ่อย คือ นมวัว ไข่ อาหารทะเล ถั่วลิสง7. เยื่อบุตาอักเสบจากการแพ้ มีอาการแสบตา คันตา ตาแดง น้ำตาไหล ขยี้ตาบ่อย เปลือกตาบวม8. ปฏิกิริยาการแพ้แบบรุนแรง เกิดอาการหลังได้รับสารแพ้ ภายในเวลาไม่เกินครึ่งชั่วโมง ทำให้มีอาการแน่นหน้าอก ความดันโลหิตต่ำ และอาจเสียชีวิตได้ สาเหตุเป็นได้ทั้งจากการแพ้อาหาร แพ้ยา แพ้แมลงต่างๆ เป็นต้นปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคภูมิแพ้โรคภูมิแพ้เป็นโรคที่มีทั้งปัจจัยทางกรรมพันธุ์ และสิ่งแวดล้อมในการทำให้เกิดโรค ดังนี้1. กรรมพันธุ์ ถ่ายทอดทางยีน (GENE) จากพ่อแม่สู่ลูกได้ จึงมักพบว่าผู้ป่วยโรคภูมิแพ้มักมีประวัติภูมิแพ้ภายในครอบครัว แต่ไม่จำเป็นต้องแสดงอาการในระบบเดียวกัน พบว่า - ถ้าพ่อหรือแม่เป็นโรคภูมิแพ้ ลูกมีโอกาสเป็นโรคภูมิแพ้ประมาณ 30%- ถ้าทั้งพ่อและแม่เป็นโรคภูมิแพ้ ลูกมีโอกาสเป็นโรคภูมิแพ้ถึง 50-70%2. สิ่งแวดล้อม ที่สำคัญ คือ สารก่อภูมิแพ้ ทั้งสารก่อภูมิแพ้ในบ้าน (เช่น ไรฝุ่น แมลงสาบ เชื้อรา ขนและรังแคของสัตว์เลี้ยง) และสารก่อภูมิแพ้นอกบ้าน (เช่น เกสรหญ้า เกสรดอกไม้ ควันและฝุ่นต่างๆ ) ซึ่งอาจเข้าสู่ร่างกายได้ทั้งทางกิน หายใจ หรือสัมผัสก็ได้การวินิจฉัยโรคภูมิแพ้1. ประวัติ ได้แก่ อาการ (ซึ่งแตกต่างกันไปตามระบบที่ร่างกายแสดงออก ทั้งอาการทางผิวหนัง ตา จมูก ปอด ทางเดินอาหาร) ประวัติการรักษาก่อนหน้านี้และการตอบสนองต่อยา ประวัติโรคภูมิแพ้ในครอบครัว สภาพแวดล้อมในบ้าน สิ่งกระตุ้นให้เกิดอาการ2. การตรวจร่างกาย ทั้งระบบผิวหนัง ตา จมูก ปอด ซึ่งจะพบลักษณะผิดปกติของแต่ละโรคตามระบบที่เป็น เช่น ผื่นแพ้ เยื่อบุจมูกบวมซีด หายใจมีเสียงวี๊ด ตาอักเสบ เป็นต้น3. การทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนัง (Skin Test) เพื่อให้ทราบว่าผู้ป่วยแพ้สารใด ทราบผลภายใน 15 นาที ซึ่งจะนำไปสู่การหลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ได้อย่างถูกต้อง ทำให้ผลการรักษาดีกว่าการกินยาเพียงอย่างเดียว4. การตรวจเพิ่มเติมอื่นๆ เช่น การทดสอบสมรรถภาพปอดในรายที่สงสัยว่าจะเป็นโรคหืด การตรวจดูเซลล์เยื่อบุจมูกในกรณีของโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้การรักษาโรคภูมิแพ้1. การใช้ยา มีหลายรูปแบบ ทั้งยากิน ยาพ่นจมูก ยาพ่นคอ ยาทาผิวหนัง ยาหยอดตา แล้วแต่อาการและระบบที่เป็น ซึ่งควรใช้ภายใต้การดูแลของแพทย์ ไม่ควรซื้อยามาใช้เอง เพราะในระหว่างการรักษาอาจต้องมีการเพิ่มหรือลดขนาดยาตามอาการ หรือปรับเปลี่ยนชนิดยาตามการตอบสนองของผู้ป่วย2. การฉีดวัคซีนภูมิแพ้ (Allergen immunotherapy) เป็นการรักษาโดยการฉีดสารก่อภูมิแพ้ที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดอาการในผู้ป่วยรายนั้นๆ เข้าไปในร่างกายทีละน้อย แล้วค่อยๆ เพิ่มจำนวนขึ้นจนผู้ป่วยมีความต้านทานต่อสิ่งที่แพ้ วิธีนี้จะใช้เวลาอย่างน้อย 1.5 ปี ถ้าให้ได้ผลดี อาจต้องฉีดต่อเนื่อง 3-5 ปี เป็นวิธีที่สามารถควบคุมอาการภูมิแพ้ได้ดี ผู้ป่วยจำนวนมากสามารถลดหรือหยุดการใช้ยารับประทานหรือยาพ่นได้3. การหลีกเลี่ยงและกำจัดสิ่งที่แพ้ต่างๆ เป็นการรักษาที่สำคัญที่สุด ซึ่งถ้าไม่ได้ทำการทดสอบภูมิแพ้ว่าแพ้อะไร อาจใช้การสังเกตว่าสัมผัสอะไร อยู่ในสิ่งแวดล้อมใด แล้วมีอาการเกิดขึ้น ก็ควรหลีกเลี่ยงสิ่งเหล่านั้น แต่ในกรณีที่ได้รับการทดสอบภูมิแพ้ก็สามารถหลีกเลี่ยงได้ตรงสาเหตุมากขึ้นวิธีการดูแลสิ่งแวดล้อมภายในบ้าน มีดังนี้- ในห้องนอน ควรมีเครื่องตกแต่งห้องน้อยชิ้นที่สุด ไม่ควรมีกองหนังสือ หรือ กระดาษเก่าๆ หมั่นทำความสะอาด และกำจัดฝุ่นละอองเป็นประจำ- ไม่ใช้พรม เก้าอี้เบาะหุ้มผ้า หมอนนุ่น ตุ๊กตาที่ทำจากนุ่นหรือขนสัตว์ เพราะสิ่งเหล่านี้สามารถกักเก็บฝุ่นได้- ในกรณีที่แพ้ไรฝุ่น ควรทำความสะอาดเครื่องนอน (ที่นอน หมอน ผ้าห่ม) โดยซักด้วยน้ำร้อนอุณหภูมิ 60 C นาน 20-30 นาที อย่างน้อยทุก 2 สัปดาห์ หรืออาจใช้ผ้าคลุมที่นอน ปลอกหมอน ที่ทำจากผ้าชนิดพิเศษซึ่งสามารถกันมิให้ตัวไรฝุ่น และสารจากไรฝุ่นลอดผ่านขึ้นมาได้ ก่อนจะปูผ้าปูที่นอนและปลอกหมอนที่ใช้ปกติทับอีกชั้นหนึ่ง- ไม่เลี้ยงสัตว์ที่มีขนในบ้าน เช่น สุนัข แมว นก- กำจัดเศษอาหารและขยะต่างๆ รวมทั้งปิดฝาท่อระบายน้ำ เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์แมลงสาบ เนื่องจากเศษชิ้นส่วนหรือสิ่งขับถ่ายของมันอาจทำให้เกิดอาการแพ้ได้- กำจัดแหล่งเพาะเชื้อรา เช่น ใบไม้ร่วงที่ทับถม เศษหญ้าที่ชื้นแฉะ ไม่ควรมีกระถางต้นไม้ภายในบ้าน ระวังไม่ให้บ้านและห้องน้ำอับชื้น โดยการเปิดหน้าต่าง ให้อากาศถ่ายเทและแสงแดดส่องถึง เมื่อมีเชื้อราเกิดขึ้นตามห้องน้ำ ห้องครัว กระเบื้องปูพื้น ควรใช้น้ำยาฆ่าเชื้อราทำลาย- ละอองเกสรดอกไม้ หญ้า และวัชพืช ก็อาจทำให้เกิดอาการแพ้ได้ ถังนั้นในช่วงที่มีละอองเหล่านี้มาก ควรปิดประตูหน้าต่าง และใช้เครื่องปรับอากาศ- ทำความสะอาดเครื่องปรับอากาศบ่อย ๆ และใช้แบบที่มีเครื่องกรองอากาศชนิด Hepa Filter

1 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

เป็นบทความที่ดีนะครับผมเอาไปส่งงานอาจารได้ดีด้วยขอบคุณนะคับ