ปัจจุบันได้มีการนำนุ่นเก่าคือนุ่นที่ผ่านการใช้งานมาจนหมดสภาพแล้วเช่นจากที่นอนและหมอนนำมาเลาะผ้าออกแล้วนำนุ่นไปใช้ทำผลิตภัณฑ์ขายใหม่ รวมถึงใช้วัสดุอื่นปนกับนุ่นในการผลิตสินค้าหมอน เวลาซื้อจึงต้องใช้ความระมัดระวังด้วย ตามข้อมมูลข้างล่าง
ชื่อศิลปหัตถกรรม หมอนขิด
ประวัติการทำหมอน เริ่มทำมาในอดีต เพื่อประโยชน์ใช้สอย เริ่มทำเพื่อจำหน่ายในปี พ.ศ. ๒๕๑๕ โดยการร่วมกลุ่มแม่บ้านในบ้านศรีฐาน ซึ่งเป็นการขยายตลาด และรูปแบบที่ทำคือหมอน ๖ ลูก ใช้หนุนนอน และหมอนขวานหรือหมอนสามเหลี่ยม ในสมัยโบราณเป็นลายขิดขอ ต่อมาทำขิดลายช้าง ผีเสื้อ ม้า นก เป็นต้น โดยการคิดค้นเองจากยายซึ่งเป็นแม่ผู้ให้สัมภาษณ์ และการยัดหมอนในสมัยโบราณใช้นุ่นหมดทั้งลูก ต่อมาผู้ซื้ออยากได้ลูกแข็งเพราะหนุนแล้วจะไม่ยุบง่าย ทำให้หันมาใช้ไส้ยัดกลาง ระยะแรกใช้กาบกล้วยแต่มีปัญหา เพราะไม่แห้งเกิดหนอนไชออกจากตัวหมอน จึงเปลี่ยนเป็นใช้ตอซังข้าวมัดเป็นท่อนยัดแทนทำให้การทรงตัวดีขึ้นสวยงาม แต่ถ้าส่งต่างประเทศจะใช้นุ่นทั้งหมด ไม่มีไส้เพราะป้องกันกัญชายัดไส้หมอน ยากต่อการส่งออก นุ่นที่ใช้จะมีทั้งเก่าและใหม่ ปกติจะใช้นุ่นเก่า ส่วนนุ่นใหม่ต้องสั่งพิเศษจึงจะทำให้ การเย็บหมอน กลุ่มแม่บ้านจะสอนในระยะแรก ๆ ต่อมาก็หัดเลียนแบบจากพ่อแม่ เพื่อนบ้านใกล้เคียงจะบอกต่อ ๆ กัน โดยไม่ปิดบัง การเย็บใช้จักรเย็บไส้และตัวหมอน ส่วนหุ้มหน้า-หลังต้องสอยด้วยมือ ผ้าที่ใช้จะเป็นขิดฝ้าย ขนาด ๒๕ นิ้วกว้าง ๑๖ นิ้ว จะได้หมอน ๖ ลูก ๑ ใบ ผ้าที่ใช้จะเป็นขนาดผืน ๒๕ นิ้ว ๓๐ นิ้ว ปัจจุบันจะใช้ผ้าโสร่งแทนขิดด้วย ส่วนรูปแบบจะมีหมอน ๖ ลูก หมอน ๙ ลูก หมอนขวาน เบาะรองนั่ง หมอนข้าง หมอนเล็ก หมอนลูกฟักทอง (สะม๊อก) ซึ่งหมอนขนาดเล็กใช้หนุนและทำพวงกุญแจ จะขายได้มาก เพราะประโยชน์ใช้สอยมาก เช่น หนุนนอนในรถยนต์ และร้านที่สั่งซื้อ คือแมคโครทั่วประเทศมีรูปแบบ ๔ แบบ คือ หมอนสามเหลี่ยม หมอนติดเบาะ หมอนผ้าดีไซด์ เบาะนั่งและยังส่งที่ลาดพร้าว จึงกระจายไปทั่วประเทศ อยากจดลิขสิทธิ์แต่แพงมาก คือไม่มีเงินพอเป็นล้านจึงจะจดได้ สาเหตุที่อยากจดลิขสิทธิ์ เพราะถูกเอาไปอ้างว่าเป็นของจังหวัดต่าง ๆ เช่น เชียงใหม่ อุดร กรุงเทพฯ เป็นต้นอยากรวมกลุ่ม เพราะราคาไม่แน่นอน มีการขายตัดราคากันในหมู่บ้าน เคยรวมกลุ่มแต่มามีการยักยอกเงินของกรรมการทำให้กิจการล้ม ขายส่งขายต่างประเทศ ขึ้นอยู่กับลูกค้าจะติดต่อมาเอง ภายในประเทศจะส่งนารายณ์ภัณฑ์ จะเป็นสินค้าคุณภาพ ยัดนุ่นไม่ใส่ไส้ ลายจะเป็นลาดมัดหมี่ โสร่ง ผ้าสีธรรมชาติ (สีไม้ขนุน, สีขี้โคลน, สีเปลือกไม้, สีเข)
การลงทุน ๑. ทางร้านเตรียมอุปกรณ์ เช่น ผ้า ด้าย ทุกชนิดมาเก็บไว้ ชาวบ้านที่จะทำ จะมาลงบัญชีอุปกรณ์ไว้ เมื่อเย็บเสร็จยัดเสร็จ จะส่งหมอนโดยคิดราคาส่ง บวกลบกลบหนี้ ๒. ชาวบ้านจะนำหมอนมาส่งขายโดยอุปกรณ์จะซื้อเองทั้งหมด ๓. ชาวบ้านบางคนก็ไปรับจ้าง เช่น ชำนาญในการเย็บตัวหมอน รับยัดนุ่นรับสอยหน้า-หลังหมอน รับมัดไส้หมอน เป็นต้น จำนวนหมอนที่เย็บได้ในหมู่บ้าน เฉพาะร้านเดียว เดือนละ ๔ หมื่นชิ้น เฉลี่ย ๕ พันลูกต่อเดือน เพราะถ้าช่วงทำนา เกี่ยวข้าว ร้านต้องกักตุนหมอน และห้ามลูกค้าสั่งสินค้ามาก ชาติที่มาติดต่อคือ ญี่ปุ่น สั่งมา ๑,๐๐๐ ชุด (หมอนขวาน ๒ ที่นั่ง ๒ พับ) ลงเรือแล้ว (ปี ๒๕๔๑) อังกฤษเริ่มเข้ามาติดต่อบ้าง หมอนขวานศรีฐาน ยังเป็นแค่อุตสาหกรรมในครัวเรือน ระบบตลาดยังไม่ดี
ผ้าที่ใช้ เดิม ผ้าไส้ ทำจากผ้าคลุมพระจะนำมาซักใหม่ ปัจจุบัน ผ้าไส้ได้มาจากโรงงาน โดยใช้ผ้าทำมุ้ง เพราะหูกหนึ่งจะใช้เวลา ๑ เดือนไม่พอเพียงและมือไม่เสมอ ลายไม่ค่อยสวย ปัจจุบันให้โรงงานทอผ้าขิด ลายจะยากแค่ไหนใช้คอมพิวเตอร์ แยกลายได้เลย ทอเร็วได้มาก ลายเสมอ สวยงาม
ปัญหา การเย็บ ช่วงแรกใช้จักรเย็บเท้า ต่อมาใช้จักรโรงงาน เดิมเย็บได้วันละ ๕-๑๐ ลูก ปัจจุบันวันละ ๕๐ ลูก ปัจจุบันมีร้านรับซื้อหมอน ๑๐ ร้าน เดิมมีร้านเดียว ทำให้ราคาไม่แน่นอน ขึ้นอยู่กับฤดูกาล การแข่งขันก็มีมาก การส่งจำหน่าย รถ ๖ ล้อ ๑ คัน ราคา ๑ แสนบาทต่อเที่ยว ส่งสัปดาห์ละ ๒-๓ เที่ยว
รายได้ รายได้ครัวเรือนละ ๖-๙ หมื่นบาทต่อเดือน หมู่บ้านที่ผลิตหมอน มี บ้านกระจาย บ้านนิคม บ้านน้อย บ้านเชียงเครือ หนองเป็ด อำเภอป่าติ้ว
การเย็บหมอน เป็นงานผู้หญิง เพราะเป็นงานผีมือ ต้องการความละเอียด สวยงาม ผู้ชายจะมัดไส้หมอน เรียนหนังสือ ทำไร่ปอ มันสำปะหลัง แตงโม
ปัญหา จะมีโรคปวดขา ปวดหลัง หอบ หืด แพ้อากาศ เพราะฝุ่นมาก จะขายดีที่สุดในช่วงออกพรรษา ปี ๒๕๔๒ ยุค IMF (มกราคม-เมษายน) ขายดีกว่าทุกปีที่ผ่านมาการขายหมอนจะขายดีตลอด ไม่มีปัญหา เพราะใช้เป็นของฝาก ใช้ทำบุญ ใช้หนุนนอน
ชื่อ
นางนงเยาว์ สู้สงคราม
เกิด
วันที่ ๒๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๑๐
ที่อยู่
๒๓/๑ ตำบลศรีฐาน อำเภอป่าติ้ง จังหวัดยโสธร
การศึกษา
ปริญญาตรี ครุศาสตร์บัณฑิต
อาชีพ
ค้าขาย
สถานภาพ
แต่งงาน
ชาติพันธุ์
ไท - ลาว
ภาษา
อีสาน
วันอาทิตย์ที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2550
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น