วันพุธที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2550

ปวดหลัง แค่เรื่องธรรมดาจริงหรือ ?/รศ.นพ. สุรินทร์ ธนพิพัฒนศิริ






คอลัมน์สายตรงสุขภาพกับศิริราช/รศ.นพ. สุรินทร์ ธนพิพัฒนศิริ


อาการปวดหลังบริเวณบั้นเอว เกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย พบมากเป็นอันดับ 2 รองจากไข้หวัด และพบว่าร้อยละ 70 – 80 ของผู้ใหญ่ เคยมีอาการปวดหลังกันแทบทั้งสิ้น เพียงแต่จะปวดมากบ้างน้อยบ้าง ซ้ำร้ายบางรายปวดร้าวลงขา เท้าชา หรือมีอาการอ่อนแรงของขาร่วมด้วย ซึ่งนอกจากความทุกข์เจ็บปวดทางกายที่เกิดขึ้น ยังมีเรื่องของความวิตกกังวลมาเกี่ยวข้องด้วย
สาเหตุอาการปวดหลัง

1. กล้ามเนื้อหลังเมื่อยล้า หรือตึงเครียดจากการทำงาน การใช้งานในกิจวัตรประจำวันหรือได้รับบาดเจ็บจากอุบัติเหตุ ที่มักเรียกกันว่า หลังยอก หลังเคล็ด หรือกล้ามเนื้อหลังอักเสบ

2. หมอนรองกระดูกสันหลังทับเส้นประสาท เสื่อม หรือติดเชื้อ

3. กระดูกสันหลังและข้อต่อของกระดูกสันหลังเสื่อม กระดูกสันหลังเคลื่อน หัก ติดเชื้อ เนื้องอกหรือมะเร็งของกระดูกสันหลัง เนื้องอกของเส้นประสาทหรือไขสันหลัง

4. อวัยวะภายในช่องท้องและอุ้งเชิงกราน ก็อาจทำให้เกิดอาการปวดหลังได้ เช่น ไต หรือกรวยไตอักเสบ เนื้องอกของไต นิ่วในกรวยไตและท่อไต เนื้องอกของต่อมลูกหมากในผู้ชาย เนื้องอกของรังไข่และมดลูกในผู้หญิง แผลในกระเพาะอาหารและลำไส้ ตับอ่อนอักเสบและเนื้องอกของตับอ่อน


อาการบ่งบอกถึงสาเหตุ
1. อาการปวดหลังเมื่อมีการเคลื่อนไหวของกระดูกสันหลังและร่างกาย เช่น ก้ม เงย ยกของ ยืน เดินหรือนั่งทำงาน แต่อาการปวดจะทุเลาลงเมื่อได้พักหรือนอนหลับ การปวดลักษณะนี้มักเกิดจากโรคที่ไม่ร้ายแรง เช่น กล้ามเนื้อหลังอักเสบ การเสื่อมของกระดูกสันหลังและหมอนรองกระดูกสันหลัง ส่วนใหญ่อาการจะทุเลาหรือหายได้ภายในไม่กี่สัปดาห์ แต่ก็อาจมีอาการเป็น ๆ หาย ๆ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรคและลักษณะการใช้งานของร่างกาย
2. อาการปวดหลังขณะที่นอนพักหรือนอนหลับ อาจมีสาเหตุมาจากการติดเชื้อ หรือเนื้องอก และมะเร็งของกระดูกสันหลัง การปวดลักษณะนี้ควรได้รับการตรวจหาสาเหตุอย่างละเอียดโดยเร็ว เพื่อให้การรักษาที่เหมาะสมแต่เนิ่น ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรายที่มีอาการเบื่ออาหารและน้ำหนักลดหรือมีไข้โดยไม่มีสาเหตุที่แน่ชัด
3. อาการปวดหลังที่เกิดขึ้นร่วมกับอาการผิดปกติของระบบอื่น ๆ เช่น อาการของระบบทางเดินอาหาร ได้แก่ ปวดท้อง ท้องอืด คลื่นไส้ อาเจียน อาการผิดปกติของระบบปัสสาวะ เช่น ปัสสาวะขัด ปัสสาวะเป็นเลือดหรือสีน้ำล้างเนื้อ สาเหตุของการปวดหลังลักษณะนี้ อาจเกิดจากโรคของอวัยวะภายในระบบดังกล่าว ซึ่งไม่เกี่ยวกับกระดูกและกล้ามเนื้อสันหลัง

การตรวจและวินิจฉัย
ข้อมูลที่ได้จากการซักถามโดยแพทย์และการบอกเล่าของผู้ป่วยโดยละเอียดจะช่วยให้แพทย์สามารถวินิจฉัยโรคได้ถูกต้อง เช่น - มีอาการปวดหลังเกิดขึ้นที่ตำแหน่งใดของหลัง เกิดมานานหรือมีความรุนแรงเพียงใด มีลักษณะการปวดเช่นไร - สัมพันธ์กับการทำงานหรืออิริยาบถใด มีการปวดร้าวไปที่ใด มีอาการชาหรือกล้ามเนื้ออ่อนแรงร่วมด้วยหรือไม่ - มีอาการผิดปกติของอวัยวะภายในหรือไม่ การตรวจร่างกาย แพทย์จะตรวจดูว่ากระดูกสันหลังสามารถเคลื่อนไหวได้ตามปกติหรือไม่ เช่น การก้ม การเงย การบิดตัว และการเอียงตัวลงด้านข้าง ตรวจหาตำแหน่งที่มีการกดเจ็บหรือทำให้เกิดอาการปวด ตรวจว่ามีการชาและกล้ามเนื้ออ่อนแรงหรือไม่ ตลอดจนตรวจร่างกายส่วนอื่น ๆ ที่อาจเป็นสาเหตุของการปวดหลัง ส่วนใหญ่แพทย์สามารถวินิจฉัยโรคได้โดยอาศัยข้อมูลจากการซักประวัติและตรวจร่างกายของผู้ป่วย ซึ่งผู้ป่วยบางรายอาจจำเป็นต้องตรวจโดยการถ่ายภาพรังสีหรือเอกซเรย์กระดูกสันหลัง รวมทั้งการตรวจเพิ่มเติมอื่น ๆ เช่น ตรวจเลือด และการตรวจทางรังสีด้วยวิธีพิเศษ
ความผิดปกติง่าย ๆ 4 ข้อ ให้ลองสังเกต 1. ปวดหลังอย่างรุนแรง 2. ปวดแม้ขณะที่นอนพักหรือนอนหลับอยู่ 3. ปวดหลังร่วมกับมีอาการเบื่ออาหารและน้ำหนักลดหรือมีไข้โดยไม่มีสาเหตุที่แน่ชัด 4. มีการชาและการอ่อนแรงของขา ในเมื่อเรารู้ถึงอาการปวดหลังว่าเกิดจากหลายสาเหตุ แต่ส่วนใหญ่เกิดจากโรคที่ไม่ร้ายแรงซึ่งมักจะทุเลาหรือหายปวดในระยะเวลาไม่นานด้วยการรักษาทางยาและกายภาพบำบัด มีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่อาจจำเป็นต้องรักษาด้วยการผ่าตัด อย่างไรก็ตามหากท่านมีอาการปวดหลังที่อาจเกิดจากโรครุนแรง เช่น การติดเชื้อหรือมีเนื้องอกที่กระดูกสันหลัง ก็ควรเข้ารับการตรวจรักษาแต่เนิ่นๆ



ไม่มีความคิดเห็น: